ประวัติวันไหว้ครู เดือนมิถุนายน ความเป็นมาและความสำคัญพิธีไหว้ครู

ช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี จะเป็นเดือนที่ลูกศิษย์ นักเรียน นักศึกษา จะได้มีโอกาสเข้าไปแสดงความเคารพรักและระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ที่ตลอดเวลาที่เรียนนั้น ท่านได้คอยอบรม สั่งสอนให้เราเป็นคนดี .. เพื่อนๆ ได้เตรียมตัวกันบ้างรึยังคะ นัดเพื่อนเก่า สมัยเรียน เข้าไปหาคุณครูกันดีกว่า แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเรื่องราว ประวัติ วันไหว้ครู กันหน่อยดีกว่า

ประวัติวันไหว้ครู เดือนมิถุนายน
ความเป็นมาและความสำคัญพิธีไหว้ครู

ประวัติวันไหว้ครู

“ครู” มีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า “หนัก” อันหมายถึงความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคนๆ หนึ่งจะเติบโตมีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลยในชีวิตของคนๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน ครูคนแรก ของเราแล้ว การที่เด็กๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ครู ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น ครู จึงเป็นบุคคลสำคัญเป็นที่สอง รองไปจากบิดามารดาที่เราทุกคน ควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน เพราะหากโลกนี้ ไม่มีผู้ที่ทำหน้าที่เป็น ครู แล้ว สรรพวิชาต่างๆก็คงสูญหายไปจากพิภพ แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ทรงเป็น ครูของโลก พระองค์หนึ่ง ด้วยเหตุนี้เอง การบูชาครู การไหว้ครู จึงเป็นประเพณีสำคัญที่มีมา แต่โบราณ ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต

ความสำคัญพิธีไหว้ครู

คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ ซึ่งการไหว้ครูนี้ นอกจากจะเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณความดี และช่วยธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไปแล้ว การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่าตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน

ครูมีหน้าที่ต่อศิษย์ตามหลักธรรมอยู่ 5 ประการคือ

1. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
3. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
4. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ
5. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพและรู้จักดำรงรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี

ทางพุทธศาสนาก็สอนให้ศิษย์แสดงความคารวะนับถือตอบครูอาจารย์ 5 ประการเช่นกัน คือ

1. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ
2. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ ฯลฯ
3. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา
4. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
5. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ

พิธีไหว้ครูในโรงเรียน และดอกไม้ไหว้ครู

โดยปกติสถานศึกษามักจัดพิธีไหว้ครูขึ้นในวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 หรือวันใดวันหนึ่งในราวเดือนมิถุนายนดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครู ในพิธีไหว้ครูนับตั้งแต่สมัยก่อน จะใช้ดอกไม้ในการทำพาน ซึ่งดอกไม้ความหมายในการระลึกคุณครู ได้แก่

หญ้าแพรก สื่อถึง เป็นหญ้าที่เติบโตเร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์ เมื่อได้รับการสั่งสอนก็พร้อมจะเรียนรู้ เหมือนดังหญ้าแพรกที่แม้บางครั้งจะเหี่ยวเฉาไป แต่เมื่อใดที่ได้รับน้ำก็พร้อมจะเติบโตทันที

ดอกเข็ม สื่อถึง สติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม

ดอกมะเขือ สื่อถึง มะเขือนั้นจะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึงนักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง และดอกงอกงามได้อย่างรวดเร็ว

ข้าวตอก สื่อถึง ความรู้ที่แตกฉาน เพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว เหมือนลักษณะของข้าวสาร เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว” นักเรียนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ “คั่ว”คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนเหล่านั้นจะ “แตก”ฉานสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้